17.8.53

วิธีทำ " เครื่องแขวนปลาตะเพียนใบลาน" ตอน 2 "เตรียมใบลาน"

มาดูขั้นตอนการ "ทำเครื่องแขวนปลาตะเพียนใบลาน" กันต่อนะ  เริ่มจากการ "เตรียมใบลาน"

 กรรมวิธีสานปลาตะเพียน
  • การเตรียมใบลาน  วัตถุดิบที่ใช้ในการสานปลาตะเพียนในปัจจุบันของชาวบ้านในชุมชนหัวแหลม  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ได้แก่  ใบลาน เหตุที่ใช้ใบลานนั้นเป็นเพราะว่าใบลานจะมีความเบา เหนียว มีความทนทาน จึงทำให้อายุการ ใช้งานค่อนข้างยาว แต่ส่วนใหญ่ที่จะมีปัญหาจะเป็น สีที่ทาตัวปลานั้นกะเทาะออกมา ไม่ใช่เพราะใบลานแตก

    "ใบลาน" เป็นส่วนยอดอ่อนของต้นลานพืชใบเลี้ยงเดี่ยวในตระกูลปาล์มเช่นเดียวกับ ต้นตาล  ต้นลานสามารถขึ้นได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทย  ต้นลานแบ่งตามสภาพภูมิประเทศที่พบในประเทศไทยได้  3  ชนิดดังนี้
                                1.ลานวัด   เป็นต้นลานที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไปภายในบริเวณวัด  เช่นเดียวกับต้นตาลพบว่าในหลายพื้นที่ของประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและ อีสาน  มักจะปลูกต้นตาลและต้นลานไว้ในวัด  เพื่อใช้ใบตาล  ผลตาล  กาบใบตาล  รวมถึงลำต้นของตาลในประโยชน์ด้านต่างๆมากมาย  ในขณะที่ต้นลานนั้นใบลานมีคุณสมบัติที่เหมาะสมทนทาน จึงมักใช้ใบลานในการจดบันทึกเรื่องราวต่างๆทางพระพุทธศาสนา  รวมถึงสรรพความรู้ทางด้านอื่นๆไว้ในใบลานตั้งแต่ครั้งในอดีตที่ผ่านมา

                                2.ลานดำหรือลานพร้าว   เป็นต้นลานพันธุ์ดั้งเดิมของไทย  พบได้ในแทบทุกพื้นที่และมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามพื้นที่ต่างๆ  ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากต้นลานในการทำงานจักสานประเภทเครื่องใช้ในชีวิตประจำ วันต่างๆ  เช่น  งอบ  หมวก  หลังคา  เป็นต้น

                                3.ลานพรุ   พบมากในภาคใต้ในพื้นที่ป่าพรุ  ไม่ค่อยพบเห็นในภูมิภาคอื่นๆของประเทศไทย  จึงมีชื่อเรียกว่า  ลานพรุ

                ใบลานที่นำมาใช้ในการจักสานต้องใช้ส่วนที่เป็นยอดอ่อนของต้นลานเท่านั้น  ตัดใบลานอ่อนในขณะที่ยังไม่คลี่กาบใบออกจากกัน  นำมาฉีกแยกออกทีละกาบใบแล้วตากแดดให้แห้งจากนั้นแยกใบลานตามขนาดใหญ่เล็ก  เพื่อความสะดวกในการเลือกใช้สานปลาตะเพียนใบลานต่อไป

                ตามปกติใบลานจะมีลักษณะด้านโคนใบจะกว้างและหนาจากนั้นจะเรียวค่อนไปด้านปลาย ใบ  ในการเตรียมใบลานจึงต้องมีการวัดขนาดที่พอเหมาะแล้วตัดหัวตัดท้ายด้วยมีด  เมื่อได้ใบลานตามขนาดที่ต้องการแล้วใช้มีดปลายแหลมคม  กรีดใบลานออกจากก้านใบในหนึ่งก้านใบลานเมื่อกรีดแยกออกจากกันแล้วจะได้ใบ ลาน  2  ชิ้น จากนั้นนำใบลานที่กรีดแยกออกมาแล้วไปตัดแต่งขนาดให้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดเท่าๆกันโดยใช้เครื่องมือเฉพาะกิจที่มีชื่อเรียกว่า “เลียด”  เป็นเครื่องมือที่ชาวบ้านในชุมชนหัวแหลมใช้ในการกำหนดขนาดเส้นขอบของใบลานให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ  เลียดทำหน้าที่ในการตัดแต่งขอบใบลานให้เป็นเส้นตรงตามขนาดที่กำหนด  เพื่อความสวยงามและสะดวกเวลานำไปสานขึ้นรูปปลาตะเพียนใบลานต่อไป

คราวหน้า ดูต่อการสานแต่ละส่วนจ้ะ

คำหลักเพื่อค้นเพิ่มเติม : ต้นลานที่พบในประเทศไทย

แหล่งข้อมูล :
http://www.panyathai.or.th              bloggang ลุงกล้วย   
แสงมณี ด้นประดิษฐ์ นศ.ช่วยงานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยรามคำแหง
คุณบุญวาสนา โอเคเนชั่น     กรมวิทยาศาสตร์บริการ    สำนักหอสมุดกลาง รามคำแหง

  

1 ความคิดเห็น:

Panee กล่าวว่า...

ขอบพระคุณมากนะคะ

สถิติผู้เยี่ยมชมทั้งหมด

Flag Counter

ขอบคุณ ผู้ชมเดือนนี้