16.8.53

วิธีทำ " เครื่องแขวนปลาตะเพียนใบลาน" ตอน 3 "เริ่มสานปลาและเครื่องประกอบ"

"เตรียมใบลาน" เพื่อ "การสานปลาตะเพียน" เรียบร้อยแล้ว คราวนี้เราก็มาดูกันว่า กว่าจะได้ "ปลาตะเพียนสาน" แบบครบเครื่องน่ะ มันยากแค่ไหน  แค่ "หัดสานตัวปลาตะเพียน" อย่างเดียวยังยากเลยเนอะ
วิธีการสานต่าง ๆ นี้ นำมาให้อ่านคร่าว ๆ เท่านั้น  บางส่วนที่ค่อนข้างง่าย จะเอาวิธีโดยละเอียดมานำเสนอทีหลังจ้ะ  ไป สมัครรับข้อมูลจาก "ห้องเล่น ห้องเรียน" ไว้ก่อนจะดีที่สุด จะได้ไม่พลาดสิ่งดี..ดี..ในชีวี้ดดด นะ  ^  ^

การสานตัวปลาตะเพียน
ก่อนที่จะนำใบลานมาสานปลาตะเพียน จะต้องมีการนำใบลานที่ซื้อมา ไป “เข้าเลียด” คือ การคัดขนาดตามที่ต้องการเสียก่อน จากนั้นจึงนำมาม้วนก่อนนำไปสาน การที่ต้องม้วนก็เพื่อให้ตัวปลาตะเพียนมีมิติ มีการพองตัว ไม่แบนเรียบ...

ใช้ใบลาน 2 เส้น  ส่วนใหญ่ถ้าสานปลาตะเพียนขนาดธรรมดา ใช้ตอกใบลาน เส้นยาว 2 เส้น ใบลานแผ่นกว้าง 1 นิ้ว ยาว 3 นิ้ว ปลาตะเพียนใบลานตัวแม่ เป็น ส่วนที่สำคัญที่สุดของการทำปลาตะเพียนใบลาน  เพราะเป็นตัวแม่ที่ทำหน้าที่โชว์ หรือแขวนลูกปลาเข้าชุด รวมถึงเครื่องประดับตกแต่งอื่นๆให้ดูกลมกลืนสวยงาม ขนาดของ ปลาตะเพียนใบลานตัวแม่ จะเป็นตัวกำหนดจำนวนของลูกปลาตะเพียนต่อไป ว่า ปลาตะเพียนใบลานชุดดังกล่าวจะเป็นชุดใหญ่พิเศษ ชุดใหญ่ ชุดกลางหรือชุดเล็ก  มีขั้นตอนการสานดังนี้
  • ม้วนใบลานหนึ่งเส้นเป็นวง
  • นำใบลานอีกเส้นสอดลอดเข้าไปอีกวงแรก แล้วสอดปลายอีกด้านหนึ่งคร่อมวงแรกเข้ามาลอดวงหลัง
  • สอดเส้นใบลานสลับกันไปมาจนเป็นรูปปลาตะเพียน ดึงให้ตึง จะได้ปลาตะเพียนส่วนหัวและลำตัว
  • ใช้ใบลานกว้าง 1 นิ้ว ยาว 3 นิ้ว พับเป็น หาง ถ้าเป็นปลาตัวใหญ่ควรใช้ใบลานเส้นใหญ่ตัดริมหน้าตัดให้หยักเป็น รอยฟันปลาก่อนพับ แล้วนำไปติดกับตัวปลาด้านหาง เย็บด้วยด้ายหรือเชือกเล็กๆ
หางปลาตะเพียนใบลาน นับว่าเป็นอีกส่วนที่สำคัญของการสานปลาตะเพียนใบลาน เพราะว่าโดยปกติในการสานปลาตะเพียนใบลานนั้น ไม่ว่าจะเป็นปลาตะเพียนขนาดใดใหญ่หรือเล็ก ที่ต้องใช้ใบลานสองชิ้นมาขึ้นรูปสอดประสานกันไปมา ตามกรรมวิธีของการสานปลาตะเพียนใบลานที่ทำกันทั่วไป แต่สุดท้ายเมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนการสาน จะได้ปลาตะเพียนใบลานกลมๆมีครีบบนและ ครีบล่างด้านละ 2 ครีบ แต่ปลาตะเพียนใบลานที่ได้นั้นจะไม่มีส่วนของหางปลา  ที่มีลักษณะแบนๆมีครีบสองข้างทั้งด้านบนและด้านล่างเหมือนหางปลาตะเพียนในธรรมชาติ  ดังนั้นขั้นตอนต่อจากการสานตัวปลาตะเพียนใบลานเสร็จแล้วต้องสานในส่วนหางต่อไปทุกครั้งในทุกตัว  เพราะในส่วนของหางปลาตะเพียนตัวนั้นๆต้องใช้ใบลานขนาดเดียวกันมาเย็บต่อกัน ด้านกว้างสองใบทำจึงจะดูสมดุลสวยงาม

วิธีสานส่วนประกอบของเครื่องแขวนปลาตะเพียน
  •  กระโจมปลา หรือ กระจังบน คือ ส่วนที่อยู่บนสุดของพวงปลาตะเพียนใบลานในแต่ละชุด มีลักษณะคล้ายดาวแปดแฉกมีส่วนนูนขึ้นทั้งสองด้านทั้งด้านบนและด้านล่าง กระโจมปลาใช้สำหรับเป็นที่แขวนแม่ปลาตะเพียนใบลานตัวใหญ่ โดย ให้เชือกหรือด้ายแขวนแม่ปลาตะเพียนใบลานตัวใหญ่ตรงจุดนูนกึ่งกลางของกระโจม ปลานั่นเอง ซึ่งจากการแขวนดังกล่าวจำทำให้แม่ปลาตะเพียนใบลานแขวนอยู่ใต้กระโจมปลาห่าง พอประมาณ ส่วนด้านบนของกระโจมปลาทำเชือกให้เป็นที่สำหรับผูกหรือแขวนปลาตะเพียนใบลาน ได้ทั้งชุดหรือทั้งพวง ในส่วนของแฉกทั้งแปดของกระโจมปลาใช้เป็นที่สำหรับแขวนปักเป้าหรือเม็ดซึ่ง เป็นเครื่องตกแต่งเข้าชุดปลาตะเพียนใบลานให้ดูสวยงาม
วิธีสาน
1. เรียดใบลาน 4 เส้น ให้ได้ขนาดกว้างประมาณ 1 นิ้ว
2. นำใบลานทั้งสี่เส้นมาพับทบครึ่ง สอดขัดกันดึงให้ตึง
3. พับซ้อนขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง สานส่วนที่เป็นแฉกให้เป็นรูปดาว

  •  การสานกระทงเกลือ หรือ ดาวห้าแฉก  เป็นส่วนที่ใช้สำหรับแขวนลูกปลาตะเพียนใบลานเพื่อเข้าชุดหรือเข้าพวงปลานั่นเอง นิยมใช้แต่งพวงปลาที่มีจำนวน 9 ตัว หรือ 12 ตัว ใช้ครอบอยู่ส่วนบนของลูกปลาที่ร้อยต่อลงมาจากแม่ปลาตัวใหญ่ โดยการแขวนลูกปลาต่อจากแม่ปลาตะเพียนในพวง โดยให้ห่างจากตัวแม่ปลาพอประมาณ การแขวนลูกปลาตะเพียนก็แขวนด้านใต้กระทงเกลือเหมือนกับการแขวนแม่ปลาด้านใต้ กระโจมปลานั่นเอง ในส่วนของแฉกทั้งห้าแฉกก็ใช้เครื่องตกแต่งแขวนประดับให้สวยงามเช่นเดียวกับ กระโจมปลาเช่นกัน
วิธีสาน
1. เลียดใบลาน 2 ใบ ให้ได้ขนาดตามต้องการ
2. นำใบลานมาวางซ้อน โดยให้ส่วนปลายด้านใดด้านหนึ่งทับซ้อนกัน ทำมุม 45 องศา
3. พับใบลานทั้งสองเส้นทับกันไปมา 6 ครั้ง
4. ใช้หัวแม่มือกดกึ่งกลางจับให้เป็นรูปกรวยแล้วใช้ใบลานที่เลือกอยู่พับสาม เหลี่ยมโดยรอบให้ได้ทั้งหมด 5 เหลี่ยมจะมีลักษณะเป็นดวงห้าแฉก

  • การสานปักเป้า หรือ เม็ด ลักษณะเป็นเม็ด เหลี่ยมห้อยระย้าอยู่ตามปลายแฉกของดวง เป็นเครื่องตกแต่งและเครื่องกำหนดระยะห่างระหว่าง ปลาตะเพียนตัวแม่กับกระโจมปลา และกำหนดระยะห่างระหว่างลูกปลาตะเพียนกับกระทงเกลือ และใช้สำหรับตกแต่งบริเวณปลายแฉกทั้งในส่วนของปลายกระโจมปลาและที่ปลายกระทง เกลือ รวมถึงตกแต่งด้านล่างของลูกปลาตะเพียนอีกด้วย   
อีกนัยหนึ่ง คือ ปักเป้าทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างส่วนต่างๆ ได้แก่ กระโจมปลากับแม่ปลา แม่ปลากับลูกปลาที่ร้อยต่ออยู่ใต้ท้อง ช่วยบังไม่ให้เป็นเส้นด้าย และทำให้พวงปลาตะเพียนมีความยาว สามารถแกร่งไกวได้พลิ้วไหวยิ่งขึ้น
วิธีสาน
1. นำใบลาน 1 เส้นมาพับงอระหว่างกลางให้ ริมใบทางขาวทับรินทางซ้าย
2. สอดริมใบทางซ้ายลอดลงมาแล้วบิดกลับจับให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ดึงให้ตึง เสร็จแล้วพับใบลานในลักษณะเดิมทับซ้อนอีกครั้งหนึ่ง

  • ใบโพธิ์ หรือ ลูกมังคุด  จะนำมาแขวนไว้ใต้ปักเป้าหรือเม็ดที่ประดับอยู่บริเวณปลายแฉกทั้ง ของกระโจมปลาและปลายกระทงเกลือ รวมถึงใต้ท้องของลูกปลาตะเพียนอีกด้วยเช่นกัน
วิธีทำ
1. นำใบลานใบเล็กๆ หรือเศษใบลานที่เหลือจากการสานแม่ปลามาใช้เป็นวัสดุ
2. ใช้กรรไกรตัดใบลานให้มีลักษณะคล้ายใบโพธิ์ หรือรูปแบบอื่นขนาดเท่าๆ กัน
  •  ลูกปลา เป็นส่วนประกอบสำคัญที่ช่วยให้เครื่องแขวนปลาตะเพียนเกิดความสวยงาม แลดูเป็นฝูง แกว่งไกวไปมาดูมีชีวิตชีวามากขึ้น ให้ความเพลิดเพลินดี ลูกปลาตะเพียนที่สำคัญนั้นต้องมีขนาดที่เหมาะสมกับตัวแม่ปลาตะเพียน เพื่อให้เกิดความสมดุลเวลาที่นำไปเข้าชุดด้วยกัน นิยมร้อยแขวน 6 ตัวบาง 9 ตัวลดหลั่นกันทั้งนี้ ลูกปลาตะเพียนจะมากหรือน้อยกี่ตัวนั้น จะขึ้นอยู่ว่าปลาตะเพียนตัวแม่มีขนาดเท่าใดใหญ่หรือเล็กดังที่กล่าวไว้แล้ว ข้างต้น
วิธีสาน
ใช้วิธีสานเหมือนกันกับแม่ปลา แต่ใช้ตอกใบลานที่มีขนาดความกว้างน้อยกว่า สานไว้ให้ครบจำนวนที่ต้องการ

การตกแต่งปลาตะเพียนใบลาน
ปลาตะเพียนที่สานเสร็จแล้วมาตกแต่งด้วยวิธีลงสี และเขียนลวดลายให้เกิดสีสัน มีขั้นตอนการตกแต่งดังนี้
1. เตรียมสีน้ำมัน โดยเตรียมสีสำหรับระบายบนตัวปลา และสีตัดเส้น สีที่นิยมใช้ลงพื้นบนตัวปลา ได้แก่ สีแดง สีม่วง สีเขียว สีน้ำเงิน หรือสีอื่นที่มองเห็นชัดติดทนนาน ไม่หลุดลอกง่าย
สีที่ใช้สำหรับตัดเส้น ได้แก่ สีเงิน สีทอง สีดำ สีขาว

2. ลงสี ขั้นตอนการลงสีพื้น เป็นการระบายสีปลาตะเพียนทั้งตัวด้วยสีเดียว เป็นการเพิ่มสีสันให้สวยงามและลบรอยตำหนิต่างๆที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการสานปลาตะเพียน สีลงพื้นที่นิยมกันในอดีตมักเป้นสีโทนแก่สีเข้มจัด เช่น สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน สีทอง สีเงิน เป็นต้น ต่อมาในยุคปัจจุบันการใช้สีลงพื้นปรับเปลี่ยนไปตามความนิยมของผู้บริโภคมาก ขึ้น มีการใช้สีลงพื้นที่แปลกตามากยิ่งขึ้นเกือบทุกเฉดสีทีเดียว เมื่อลงสีทั่วแล้วปล่อยทิ้งไว้รอให้สีแห้ง

3. เขียนลวดลาย เมื่อสีแห้งสนิทดีแล้วจึงเริ่มเขียนลวดลาย โดยยึดความสวยงามเหมาะสมกับตัวปลาเป็นหลักขั้นตอนการเขียนลวดลาย นับเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญมากของการทำปลาตะเพียนใบลานทีเดียว เพราะในปัจจุบันการเขียนลวดลายรวมถึงการระบายสีในตัวปลาตะเพียนเป็นจุดขายที่สำคัญของปลาตะเพียนใบลานในยุดการแข่งขันระบบการตลาดเสรี
ลายที่นิยมเขียน คือ ลายเกล็ดปลาลักษณะต่างๆ เช่น เกล็ดโค้ง เกล็ดพัด เกล็ดเหลี่ยม ส่วนห่างและครีบตดแต่งด้วยลายดอกไม้ เถาไม้ ใบไม้ หรือลายที่มีลักษณะเป็นลายไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของคนไทยโดยเฉพาะ
      การวาดลวดลายแต่ละส่วนยังมีความแตกต่างกันไปอีกดังนี้

3.1 การวาดเกล็ดปลา เมื่อก่อนในอดีตมักนิยมใช้พู่กันเล็กปลายแหลมจุ่มสีขาวหรือสีเงินระบายเป็นรูปวงโค้งซ้อนสลับเหมือนเกล็กปลาตะเพียนจริงทั่วทั้งตัว ยกเว้นที่บริเวณหางปลาและด้านหัวปลา สำหรับการระบายสีในช่องเกล็ดปลานั้น ใช้ พู่กันเล็กปลายแหลมเช่นเคยจุ่มสีที่ระบายแล้วตัดกับสีลงพื้นได้ดีหรือสีโทน ตรงข้ามกับสีลงพื้น จะทำให้สีระบายเกล็ดดูโดดเด่นสวยงาม ตัดกับสีลงพื้นอย่างลงตัว ในการระบายสีเกล็ดปลาตะเพียนใช้พู่กันระบายคล้ายรูปพัดในทุกเกล็ดของปลาจนทั่วทั้งตัว แต่ในปัจจุบันนิยมใช้ปากกาเมจิคสีดำหรือน้ำเงินวาดเส้นลายเกล็ดปลาแทนการใช้พู่กันเหมือนในอดีต

3.2 การวาดลวดลวยหัวปลาตะเพียน บริเวณหัวปลาตะเพียนจะมีลวดลายลักษณะพิเศษโดยการวาดลายเส้นโค้งออกจากตัวปลาจำนวนสองเส้นห่างกันพอประมาณ ระบายสีเป็นแนวเส้นตั้งเหมือนเหงือกปลาซ้อนกันทั้งสองเส้นโค้ง ส่วนบริเวณปลายปากของตัวปลาตะเพียนระบายสีเป็นวงกลมเล็กๆคล้ายลูกตาของปลาทั้งสองข้าง แล้วใช้ปลายพู่กันระบายสีดำเป็นจุดตรงกลางเป็นตาดำของปลา ปัจจุบันนิยมใช้ปากกาเมจิคสีดำระบายแทนการใช้พู่กันเพราะหาง่ายและใช้สะดวกกว่ามาก

3.3 การวาดลวดลายบนหางปลาตะเพียน หาง ปลาตะเพียนส่วนใหญ่มักจะใช้ใบลานสองใบมาเย็บต่อกันด้านกว้างแล้วพับขึ้นรูป เป็นหางปลา ซึ่งจะทำให้ได้หางปลาตะเพียนที่ใหญ่กว้างมากขึ้นดูสมส่วนและโดดเด่นเวลาเข้า ชุดพวงปลาตะเพียนใบลานครบชุด การวาดลวดลายบริเวณหาง ปลารวมถึงการระบายสีจะมีลวดลายที่นิยมใช้กันอยู่หลายลวดลาย แล้วแต่ว่าจะกำหนดรูปแบบอย่างไรให้ดูสวยงามสะดุดตารวมถึงการเลือกใช้สีสัน ระบายหางปลาอีกด้วยเช่นกัน แต่โดยส่วนใหญ่ที่นิยมทำกันมาคือการเลือกใช้สีสันที่กลมกลืนใกล้เคียง หรือใช้สีเดียวกันกับสีระบายลวดลายเกล็ดปลานั่นเอง

3.4 การระบายสีที่ปลายหางและปลายครีบปลาตะเพียน มักนิยมใช้สีเดียว กับสีระบายเกล็ดปลาหรืออาจใช้สีทองระบายที่ส่วนปลายของหางปลาและครีบปลาทั้งหมด เพื่อช่วยขับให้ลวดลายบนตัวปลาและหางปลาดูสวยงามโดดเด่นมากขึ้น

3.5 การระบายสีกระโจมปลา พื้นสีของกระโจมปลามักใช้สีเดียวกับสีลงพื้นตัวปลาระบายจนทั่วกระโจม สำหรับบริเวณจุดยอดกึ่งกลางของกระโจมทั้งด้านบนและด้านล่างระบายด้วยสีทองหรือสีเหลืองหรืออาจใช้สีเดียวกับที่ระบายเกล็ดปลาก็ได้ ระบายสีเป็นวงกลมรอบๆจุดกึ่งกลางกระโจมคล้ายดอกทานตะวันทั้งสองด้าน

3.6 การระบายสีกระทงเกลือ ระบายสีเช่นเดียวกับกระโจมปลาทุกอย่าง ยกเว้นเพียงแค่จุดกึ่งกลางของกระทงเกลือที่ระบายเฉพาะด้านบนเท่านั้น

3.7 การระบายสีปักเป้า ระบายทั้งเม็ดด้วยสีเดียวกันกับสีระบายเกล็ดปลาและบริเวณหางปลากับปลายครีบทั้งหมด 3.2.8 การระบายสีลูกปลาตะเพียน การใช้สีทั้งสีลงพื้น สีระบายเกล็ด สีปลายหางปลายครีบใชสีเหมือนกัน อาจจะแตกต่างบ้างที่การสร้างลวดลายหรือระบายสีลวดลายบนตัวลูกปลาเท่านั้น


4. ตัดเส้น เป็นขั้นตอนที่ขาดไม่ได้ เพราะจะช่วยเสริมให้ปลาตะเพียนดูงดงามยิ่งขึ้น สีที่นิยมใช้ตัดเส้น คือ สีเงิน และสีทอง ซึ่งมีความแวววาวดูคล้ายเกล็ดปลาจริงๆ สำหรับการตกแต่งส่วนประกอบอื่นๆ เช่น กระโจมปลา กระทงเกลือ มักใช้สีโทน เดียวกัน และเขียนลวดลายคล้ายกัน กับแม่ปลาตะเพียน

เฮ้อออ...เหนื่อยยัง  เราเหนื่อยแล้วอ่ะ  ถ้ายังไม่เบื่อ (รู้หรอกว่าหาข้อมูลไปทำรายงาน) ไว้รอคราวหน้าจะประกอบเครื่องให้เป็น "พวงปลาตะเพียนสาน" ครบชุดซะที..นะ



แหล่งข้อมูล : 
http://www.panyathai.or.th             
แสงมณี ด้นประดิษฐ์ นศ.ช่วยงานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยรามคำแหง
คุณบุญวาสนา โอเคเนชั่น     กรมวิทยาศาสตร์บริการ    สำนักหอสมุดกลาง รามคำแหง

ไม่มีความคิดเห็น:

สถิติผู้เยี่ยมชมทั้งหมด

Flag Counter

ขอบคุณ ผู้ชมเดือนนี้