17.8.53

วิธีทำ " เครื่องแขวนปลาตะเพียนใบลาน" ตอน 4 "ประกอบเครื่องแขวนปลาตะเพียน"

ทำ "เครื่องประกอบปลาตะเพียนสาน" มาตั้งนาน คราวนี้มาประกอบชิ้นส่วนกันดีกว่า

การร้อยเครื่องแขวนปลาตะเพียน หรือ พวงปลาตะเพียน
  1. นำกระโจมปลามาร้อยเชือกหรือด้ายด้านบนก่อน โดยร้อยเม็ดปักเป้าจำนวน 3 ลูกไว้ด้านบนของกระโจมปลาเพื่อให้ดูสวยงามไม่ว่างเปล่าเกินไปมัดเชือกหรือด้ายให้เรีบยร้อยแข็งแรงไม่หลุดได้ง่าย
  2. นำเชือกหรือด้ายมาร้อยด้านล่างของกระโจมปลา นำเม็ดปักเป้ามาร้อยลงมาจำนวน 3 ลูกจากนั้นนำกระทงเกลือหนึ่งอันมาร้อยต่อจากเม็ดปักเป้ามัดให้แน่น นำเม็ดปักเป้ามาร้อยต่อลงมาอีก 3 ลูกมัดให้แน่นเช่นกัน
  3. นำปลาตะเพียนตัวแม่มาร้อยต่อจากเม็ดปักเป้า ในการร้อยเชือกหรือด้ายของปลาตัวแม่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงแน่นหนาเป็นพิเศษ เพราะตัวปลาตะเพียนตัวแม่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก และยังต้องนำเอาลูกปลาตะเพียนทั้งหมดมาร้อยแขวนต่อจากปลาตัวแม่อีก จึงทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นไปอีกหลายเท่าตัว
  4. การร้อยฝูงปลาตะเพียนตัวลูก ในการร้อยลูกปลาตะเพียนจะแบ่งออกเป็น 3 แถว ด้วยกันโดยเริ่มจากการร้อยฝูงลูกปลาตรงบริเวณกลางตัวของแม่ปลาตะเพียนก่อนเป็น อันดับแรก เพราะ เป็นการถ่วงน้ำหนักหาจุดสมดุลระหว่างช่วงหัวและช่วงหางของแม่ปลาตะเพียนนั่นเอง ใช้เชือกหรือด้ายร้อยให้ตรงกับเส้นเชือกหรือด้ายที่ร้อยมาจากข้างบน นำเม็ดปักเป้ามาร้อยเส้นตรงกลางจำนวน 4 เม็ด จากนั้นนำเอากระทงเกลือหนึ่งอันมาร้อยต่อ จากนั้นนำเม็ดปักเป้ามาร้อยต่ออีก 3 เม็ด จึงนำลูกปลาตะเพียนหนึ่งตัวมาร้อยต่อลงมา แล้วนำเม็ดปักเป้ามาร้อยต่ออีก 3 เม็ดนำลูกปลาตะเพียนมาร้อยต่ออีกหนึ่งตัว ทำแบบเดียวกันจนได้ลูกปลาตะเพียนครบ 3 ตัว เมื่อลูกปลาตะเพียนครบ 3 ตัว ร้อยเม็ดปักเป้าต่ออีก 3 เม็ดแล้วจึงร้อยใบโพธิ์หนึ่งใบเป็นการปิดท้าย
  5. การร้อยลูกปลาตะเพียนในอีกสองฝูงที่เหลือ ฝูงที่ 1 ร้อยบริเวณปลายปากของลูกปลาตะเพียน ข้อแตกต่าง บริเวณปลายปากปลาตะเพียนตัวลูกจะใช้เม็ดปักเป้าจำนวน 6 เม็ด และในส่วนปลายหางของปลาตะเพียนตัวลูก ให้คาดคะเนในจุดที่ร้อยฝูงปลาตะเพียนตัวลูกแล้วจะเกิดความสมดุลของพวงปลาตะเพียนทั้งชุด และใช้เม็ดปักเป้าเพียงแค่ 2 เม็ดเท่านั้น นอกจากนั้นทำกรรมวิธีเหมือนกันกับฝูงลูกปลาตะเพียนตรงกลางทุกประการ
  6. การร้อยเม็ดปักเป้าและใบโพธิ์ ในส่วนที่เหลือที่ต้องมีการตกแต่งให้พวงปลาตะเพียนใบลานชุดนี้ดูสวยงามสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยการนำเม็ดปักเป้าจำนวน 2 เม็ดมาร้อยแล้วปิดท้ายด้วยใบโพธิ์ ที่บริเวณปลายของกระโจมปลาทุกแฉก ปลายของกระทงเกลือทุกแฉก ที่บริเวณปากและปลายหางของลูกปลาตะเพียนทุกตัวจนครบ จะได้ชุดปลาตะเพียนใบลานที่ระบายสีสวยงามประดับประดาตกแต่งอย่างสวยงาม
  7. การบรรจุพวงปลาตะเพียนใบลานใส่ถุงพลาสติค นำถุงพลาสติคขนาดใหญ่พอที่จะใส่พวงปลาตะเพียนใบลานทั้งพวงได้มาใส่ให้เรียบร้อยมัดปากถุงให้แน่นหนามั่นคง ป้องกันฝุ่นระอองที่จะทำให้เกิดความสกปรกกับปลาตะเพียนใบลานทั้งหมดได้ และเป็นการรักษาสีสันให้สดใสอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย เพราะถ้าไม่รักษาความสะอาดให้ดีจะส่งผลให้ปลาตะเพียนสกปรกจากฝุ่นทำความสะอาดยาก และที่สำคัญขายไม่ได้ราคาเสียเวลาทำมาก จึงต้องรักษาให้ดูดีสะอาดอยู่เสมอ
ยัง..ยังไม่พอ กว่าจะทำเสร็จจนขายได้  ยังต้องบรรจุดี ๆ เวลาขนส่งจะได้ไม่เสียหายอีก เพราะปลาตะเพียนใบลานมีรูปทรงเป็นพวงห้อยระย้า ต้องแขวนไว้ในที่สูงตลอดเวลา พับเก็บก็ไม่ได้
  • ก็ต้องหาที่เก็บให้ทั้งกว้างแล้วก็ ต้องมีหลังคาสูงเพียงพอสำหรับการแขวนพวงปลาตะเพียนใบลาทั้งหมดทั้งพวงใหญ่ พวงเล็ก 
  • เวลาขนส่งก็จะต้องระวัง  เหล่าูฝูงปลาตะเพียนใบลานไม่ให้โดนแรงลมปะทะ ก็ต้องออกแบบรถสำหรับการขนส่งปลาตะเพียนใบลานอีก  ถ้าอยู่ใกล้ก็ดัดแปลงมอเตอร์ไซด์พ่วงข้างทำโครงสร้างเหล็กให้สูงเป็นห้องทึบลมเข้าไม่ได้ ภายในตู้ตรงกลางก็ต้องทำราวสำหรับแขวนพวงปลาตะเพียนเหมือนตู้แขวนเสื้อผ้า เวลารถวิ่งพวงปลาตะเพียนที่อยู่ภายในตู้ทึบจะไม่โดนลมจากภายนอกตู้ขณะที่รถวิ่ง  
  • ถ้าอยู่ไกลก็ต้องดัดแปลงทำรถกระบะเหมือนรถห้องเย็น  เพียงแต่ไม่ต้องติดแอร์ก็ได้  แต่ก็ต้องทำตู้ทำราวแขวนเหมือนกัน
  • ถ้าส่งออกต่าง ก็ต้องห่อใส่ถุงพลาสติคมัดให้แน่น แล้ว บรรจุในกล่องกระดาษให้แน่นหนาแข็งแรงสามารถขนส่งทางเรือหรือทางเครื่องบินได้โดยสะดวก
(ตกลงเราจะทำขายกันรึไงเนี่ย..) นอกจากปลาตะเพียนสาน ที่พยายามพัฒนารูปแบบให้เป็นที่สนใจไม่ตกยุค โดยเฉพาะเรื่องสี ที่ยุคกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง  รวมทั้งลูกค้าต่างประเทศ จะนิยมสีธรรมชาติ คือ สีใบลานแท้ ๆ มากกว่าสีฉูดฉาด

แต่ถ้าเป็นสีน้ำมัน ส่วนใหญ่ก็ยังนิยมสีแดง ประมาณว่า เฮงดี เป็นสีเเห่งโชคลาภ แล้วถ้าลวดลายยิ่งละเอียดเป็นลายไทยๆ ก็ยิ่งดีสำหรับขายลูกค้าเมืองนอก ถึงแม้จะเขียนยาก ต้นทุนสูงก็นะ..


นอกจากนั้น บางร้านก็ยังทำเป็นรูปสัตว์อื่น ๆ พวก นก กบ  ปลาเงิน ปลาทอง ฯลฯ โดยยังคงใช้วัสดุหลักเดิม คือ ใบลาน แต่ก็อาจมีวัสดุสมัยใหม่ที่ดูเข้ากันได้ประกอบบ้าง  ราคาที่ซื้อขายนั้นมีตั้งแต่หลักสิบบาทไปจนถึงราคาเป็นพันเป็นหมื่นบาท ขึ้นอยู่กับจำนวน ขนาด ความยากง่ายของการประดิษฐ

ทราบมาว่า เคยมีบางแห่งได้รับการว่าจ้างให้รสานปลาตะเพียนขนาดเท่าตู้ใหญ่ๆ หนึ่งตู้  ก่อนสานต้องนำใบลานมาเย็บกับจักรให้ได้ขนาดที่ต้องการก่อน จากนั้นต้องใช้คนทำ 3 คน เพื่อที่จะสานปลาโดยใช้เวลาถึง 5 ชั่วโมงจึงจะได้ปลาตะเพียนตัวใหญ่ดังกล่าว 1 ตัว และจะต้องทำทั้งหมด 10 ตัวด้วยกัน เรียกว่า...กว่าจะลงสีและเขียนลายเสร็จคนทำคงใกล้สลบเนอะ..แต่ก็คงคุ้มค่าเหนื่อย น่าภูมิใจด้วยที่ทำได้ และน่าดีใจที่ยังมีคนเห็นคุณค่า

อ่านจบแล้ว..ไปอุดหนุน ปลาตะเพียนสานของไทย ๆ เรามาแขวนไว้สักพวงมั้ย นอกจากจะสวยเพลินตาแล้วยังเป็นสิริมงคล เรียกโชคลาภ บ้างก็ว่า จะทำให้โชคดี รวมไปถึงเรื่องของการมีบุตรด้วย ที่สำคัญ ได้สืบสาน ส่งเสริมฝีมือและภูมิปัญญาที่น่าภูมิใจของคนไทยด้วยนะ

แหล่งข้อมูล : 
http://www.panyathai.or.th             
แสงมณี ด้นประดิษฐ์ นศ.ช่วยงานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยรามคำแหง  ศิลาปลาตะเพียน 
http://ilwc.aru.ac.th
คุณบุญวาสนา โอเคเนชั่น     กรมวิทยาศาสตร์บริการ    สำนักหอสมุดกลาง รามคำแหง



ไม่มีความคิดเห็น:

สถิติผู้เยี่ยมชมทั้งหมด

Flag Counter

ขอบคุณ ผู้ชมเดือนนี้