7.9.53

ความหมาย และ เรื่องน่าทึ่งของ "ดอกไฮเดรนเยีย"

ในหมวด "งานฝีมือ" เราได้ลง วิธีทำดอกไฮเดรนเยียจากหลอดกาแฟ ไปแล้ว แต่เห็นว่าควรรู้เรื่องความหมาย และยังมีเรื่องแปลก ๆ น่าทึ่งของ "ดอกไฮเดรนเยีย" ที่คิดว่าน่าสนใจ ก็เลยเอามาให้อ่านกันตามแนว "ห้องเล่น ห้องเรียน"  ที่ไม่ใช่เอาแต่เล่น  หรือประดิษฐ์โน่นนี่..หรอกนะ




ไฮเดรนเยีย (Hydrangea), ชื่อวิทยาศาสตร์ : Hydrangea macrophylla (Thunb.) Ser.
  • ต่างประเทศมักรู้จักไฮเดรนเยียในชื่อของ ฮอร์เดนเชีย (Hortensia) ซึ่งเป็นพืชสกุลหนึ่งในวงศ์ Hydrangeaceae ซึ่งประกอบไปด้วยพืชสกุลต่าง ๆ ถึง 80 สกุล
  • คนไทยรู้จักไฮเดรนเยียมานานแล้ว แม้ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้นำเข้ามาเป็นคนแรก แต่มีผู้สันนิษฐานว่าน่าจะเข้ามาในสมัยของสมเด็จพระปิยะมหาราช  เนื่องจากพระองค์ทรงเสด็จประพาสหลายประเทศ และได้ทรงนำพืชพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับหลายชนิดเข้ามาปลูกในพระราชวังสวนดุสิต
  • ไฮเดรนเยียเป็นไม้พุ่มสูง 60 -70 ซม. ออกดอกเป็นช่อ มีหลายสี ลักษณะดอกของไฮเดรนเยีย(macrophylla)  
วิธีขยายพันธ์ "ไฮเดรนเยีย"
  • ตัดกิ่งยาวประมาณ 5-6 นิ้ว เลือกกิ่งที่ยังไม่ให้ดอกจะได้ผลดีกว่า
  • ริดใบคู่ล่างออก เพื่อที่จะชำลงไปให้เกิดรากตรงรอยแผลนั้น
  • ตัดใบออกครึ่งหนึ่งเพื่อลดการคายน้ำ
  • จุ่มก้าน(ส่วนทีจะชำ) ลงในฮอร์โมนเร่งราก ถ้าไม่มีก็ไม่จำเป็นจะต้องหามาใช้
  • ปักชำในวัสดุปลูก เช่นแกลบเผา หรือขุยมะพร้าวผสมทรายหยาบ รดน้ำให้ชุ่ม แล้วคลุมด้วยถุงพลาสติกกันการคายน้ำ
  • วางไว้ในที่สว่างแต่ไม่ให้ถูกแดดโดยตรง รากจะแตกภายในเวลา 2-3 สัปดาห์
เรื่องน่าทึ่งของ "ดอกไฮเดรนเยีย"
"ไฮเดรนเยีย" จะเปลี่ยนสีของดอกตามสถาพความเป็นกรด-ด่าง ของดิน ปริมาณของฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมก็มีผลต่อค่าของสีที่เปลี่ยนไปด้วย สีของเจ้าดอกไม้ชนิดนี้ก็เลยมักจะแตกต่างไปตามสภาพภูมิประเทศ

ส่วนใหญ่คนที่ปลูกก็จะรู้สึกว่าท้าทาย หรือ สนุกกับการเปลี่ยนสีไฮเดรนเยีย  โดยอาศัยหลักการเปลี่ยนสภาพดินปลูกให้เป็นกรดหรือด่าง คือถ้ามีค่าพีเอช น้อยกว่า 5.5 (เป็นกรด) ไฮเดรนเยียจะให้ดอกสีฟ้าหรือม่วง แต่ถ้ามีค่าพีเอชสูงกว่า 5.8 (เป็นด่าง) ดอกไฮเดรนเยียก็จะกลายเป็นสีชมพู หรือแดง

ถึงแม้ว่า  ผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่า จริง ๆ แล้วการเปลี่ยนไฮเดรนเยียให้สีได้อย่างใจนั้น ไม่ง่ายอย่างที่คิด ส่วนใหญ่สีจะเปลี่ยนแค่เล็กน้อย หรือไม่ก็ได้สีแบบซีดๆ จืดๆ เพราะค่าพีเอชในดินไม่ลงล็อกที่มันต้องการ... อีกทั้งยังมี “ข้อแม้” เรื่องดินฟ้าอากาศ อุณหภูมิเข้ามาประกอบ

ที่สำคัญเค้าว่า  ไฮเดรนเยียในกระถาง จะเปลี่ยนสีได้ง่ายกว่าไฮเดรนเยียที่ปลูกลงดิน หรือถ้าลงดิน ต้นเล็กจะเปลี่ยนสีได้ง่ายกว่าต้นใหญ่... แถมตำราแบบไทย ๆ ที่เขียนให้เรามีกำลังใจว่า เล่นไม่ยาก.. คือ ถ้าอยากได้ดอกสีฟ้าก็เอาตะปูเป็นสนิมฝังใต้โคน หรือรดน้ำแกว่งสารส้ม ฯลฯ หากอยากได้สีชมพูก็ขุดตะปูออก สีก็จะคืนกลับไปเป็นสีชมพูเหมือนเดิม...

วิธีเปลี่ยนสีดอกไฮเดรนเยีย แบบคนไทยปลูก
  • เลือกต้นที่ปลูกในกระถาง จะควบคุม ph คือความเป็นกรดด่างของดินได้ง่ายกว่าต้นที่ลงดิน ปกติดอกไฮเดรนเยียเปลี่ยนสีง่ายตอนที่ถูกเคลื่อนย้ายหรือ ขยายพันธุ์ เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป
  • มีมือปลูก "ไฮเดรนเยีย" แนะนำกันมาว่า  ถ้าอยากรู้ว่าสภาพดินเป็นอย่างไร  ให้ลองไปซื้อแบบตรวจสอบดินมาตรวจสอบ  ซึ่งจะมีน้ำยาแต้มและมีกราฟตารางเทียบสี  ให้เราตรวจว่าสีทีได้ตรงกับสีอะไร
  • เปลี่ยนดอกไฮเดรนเยียให้เป็นสีฟ้า  การเปลียนสีจากชมพูไปฟ้าทำได้โดยการเติม aluminum ให้แก่ดิน โดยการเอาสารส้มมากวนน้ำแล้วรดลงดิน 
           มือสมัครเล่นถ้าหาสารตัวนี้ไม่ได้ มาลองปรับสภาพดินให้เป็นกรดอ่อนแทนโดยการใช้อินทรียวัตถุต่างๆ เช่น กากกาแฟหรือเปลือกผลไม้ แต่ง่ายกว่านั้นลองหาปุ๋ยสูตรที่ตัว K สูงๆแต่ P ต่ำเช่น 25-5-30 ก็น่าจะใช้ได้เช่นกัน
  • สีฟ้า อีกตำรา โรยผงตะไบเหล็ก หรือฝังตะปูเศษเหล็กอะไรก็ได้ที่เป็นสนิมลงไป รดด้วยน้ำแกว่งสารส้มก็ได้ ใช้อัตราส่วนสารส้มป่น 1 ช้อนชาต่อ น้ำ 1 แกลลอน บางคนบอกว่ารดกาแฟลงไปก็ทำไห้เปลี่ยนเหมือนกัน  เห็นมะ..วัสดุหาง่าย ฟังก็คุ้นหูกว่าของฝาหรั่ง..
  • ลองเปลี่ยนเป็นสีชมพู ในทางกลับกัน ต้องปรับสภาพดินให้เป็นด่างอ่อนๆ ซึ่งปกติเราทำง่ายๆกันอยู่แล้ว คือ การใช้ปูนขาว หรือโดโลไมท์ แต่อย่าเติมมากไป เดี๋ยวจะเป็นโรคขาดธาตุเหล็ก ทำให้เกิดตำหนิด่างๆดวงๆ หรือหนักกว่านั้นก็ม่อง..ไปเลย ง่ายสุดๆเห็นจะเป็นการใช้ปุ๋ยสวนทางกับข้างบน คือเลือกใช้สูตร 25-10-10
  • สีชมพูอีกตำรา ก็ขุดพวกเศษตะปูออก เปลี่ยนดินด้วยน่าจะดี แล้วให้ปุ๋ยฟอสฟอรัสสูงๆ หรือรดด้วยน้ำมะนาว  เอาพวกเปลือกมะนาวมาฝังไว้ที่โคนต้นก็น่าจะได้เหมือนกัน
  • ถ้าอยากให้ดินเป็นด่าง อันนี้มาแปลกกว่า ใช้ยาลดกรดในกระเพาะ หรือที่เรียกว่า ยาธาตุน้ำขาว รดแต่น้อย อย่ามากเกินไปเดี๋ยวตายก่อนเปลี่ยนสีดอก
ความหมายของ "ไฮเดรนเยีย"

เกือบลืมไปได้ไงเนี่ย.."ภาษาดอกไม้" ของ "ดอกไฮเดรนเยีย" ก็คือ "ความเย็นชา"...แป่ว...นึกว่าจะโรแมนติคล่ะสิ   หลายตำราเค้าว่างั้นจริง  ๆ นะ  ถ้างั้นเวลาจะส่งให้ใคร ก็คงจะส่งเพื่อประชด หรือตัดพ้อซะมากกว่าแล้วล่ะ  ไม่ใช่ให้ทำซึ้ง

แต่ก็มีบางตำราเหมือนกัน ที่ตีความออกมาแตกต่างว่า  "ขอบคุณสำหรับความเข้าใจ" เอ๊ะ..ทำไมไม่เหมือนกันซะงั้น   ถ้าจะมองในแง่ที่ว่า "ไฮเดรนเยีย" จะเปลี่ยนสีตามสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิ ฯลฯ  ก็คงเหมือนกับคนล่ะสิ ในเวลา สถานการณ์ สภาพที่แตกต่างไม่เพียงอารมณ์จะเปลี่ยนได้  แต่ความรุ้สึก ความคิดก็เปลี่ยน ปรวนแปร แม้กระทั่ง "สติ" (ไม่งั้นเวลาคนเราอยู่ในสภาพที่กดดัน จะเกิดอาการ "สติแตก" เรอะ ใช่ปะ..)  แล้วถ้า..มีคนที่เข้าใจและยอมรับในตัวเราได้..ทุกสถานการณ์  นั่นล่ะ..


เหตุผลที่ฉันมอบ "ไฮเดรนเยีย"  ก็เพื่อ  ขอบคุณที่เธอเข้าใจในตัวฉันเสมอ...ไงล่ะ ว้าว ว ว

ว่าไปซะ..ยาว  สรุป ไหน ๆ ก็ไหน ๆ ใครสนใจ อย่าลืมรอชม "การทำไฮเดรนเยียให้เป็นดอกไม้แห้ง" ในหมวด "งานฝีมือ" ด้วยละกัน..นะ


แหล่งข้อมูล : 

วิกิพีเดีย
www.the-than.com    
ป้ามด bloggang ใน เว็บพันทิพ
ไทยทาวน์ ยูเอสเอนิวส์
 

ไม่มีความคิดเห็น:

สถิติผู้เยี่ยมชมทั้งหมด

Flag Counter

ขอบคุณ ผู้ชมเดือนนี้