28.12.53

ไอเดียเพิ่มรายได้ ทำเครื่องประดับเก๋ ๆ จากวัสดุเหลือใช้

เราได้นำเสนอ วิธีประดิษฐ์งานฝีมือ ต่าง ๆ จาก วัสดุเหลือใช้ หรือ ของใช้แล้ว มากมาย ซึ่งหลายชิ้นก็สวย..น่ารัก...เก๋ พอได้ทราบเรื่องราวคนที่มีไอเดียสร้างสรรค์เครื่องประดับจาก วัสดุเหลือใช้ สร้างรายได้ ได้จริง ถึงขนาดมีต่างชาติมาสั่งซื้อ จึงนำมาถ่ายทอดให้เผื่อเป็นแรงบันดาลใจ ไปต่อยอด สร้างอาชีพ หรือ หารายได้พิเศษ เพิ่มเติมกันอีกที

แฟชั่นนิสตาทั้งหลาย รู้ไว้เถอะว่าคุณก็มีส่วนช่วย ลดโลกร้อน ได้ หากรู้จักใช้กระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ รวมทั้งเสื้อผ้าที่มีอยู่



เมื่อซื้อมาด้วยราคาแพงๆ แล้วก็ใช้อย่างทะนุถนอมและใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด หรือถ้ารู้สึกเบื่อของบางชิ้นแล้วก็นำมาปรับเปลี่ยน ถอดวัสดุบางชิ้นจากเครื่องประดับชิ้นนี้ไปต่อเติมกับชิ้นนั้น อาจได้เครื่องประดับชิ้นใหม่มาใช้ไม่ซ้ำแบบใคร เช่นเดียวกับการรู้จักมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าที่มีอยู่ รู้สึกสนุกกับการแต่งกายตามแฟชั่นไปด้วย แถมยังประหยัดเงินในกระเป๋าได้อีกด้วย หรือจะนึกสนุกลุกขึ้นมาประดิษฐ์เครื่องประดับใช้เองโดยใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น เศษไม้ หรือเครื่องประดับบางชิ้นที่ชำรุด นำส่วนประกอบต่างๆ มาทำเป็นสร้อยเส้นใหม่ก็ไม่ว่ากัน

เช่นเดียวกับแนวคิดสร้างสรรค์ งานศิลปะเชิงพาณิชย์ ของ ภูวดล ภูมิถาวร วัย 27 ปี นักประชาสัมพันธ์หนุ่มแห่งบริษัท โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ เวิลด์วายด์ ที่หาเวลาว่างจากงานประจำมาเปิดร้านขายเสื้อผ้ามือหนึ่งและมือสอง รวมทั้งใช้จินตนาการสร้างสรรค์ เครื่องประดับ ที่ทำจาก เศษของเหลือใช้ อาทิ ทองเหลือง เหรียญเก่าๆ มาทำเป็นเครื่องประดับเส้นใหม่ นำไปจำหน่ายถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานศิลป์ สร้อยคอบางเส้นที่เขาออกแบบต้องตาต้องใจชาวต่างชาติสนใจสั่งทำสร้อยไปขายที่ ฝรั่งเศสมาแล้ว แต่เขาตอบปฏิเสธและให้เหตุผลว่า วัสดุที่ใช้นำมาจากเศษของเหลือใช้จริงๆ จึงทำได้เพียงจำนวนจำกัด ไม่หมดแค่นั้น ภูวดลยังใช้แนวคิดสร้างสรรค์เสื้อผ้ามือสองต่อเติมใหม่ ก่อให้เกิดเสื้อผ้าที่มีความเป็นเอกลักษณ์ และมีเพียงชิ้นเดียวในโลก ถูกใจสาวๆ นักช็อป อีกทั้งสามารถเพิ่มรายได้ด้วยวิธีง่ายนิดเดียว โดยการนำเศษวัสดุเหลือใช้มาก่อให้เกิดประโยชน์

นำเศษวัสดุมาทำให้มีค่า
: พื้นฐานภูวดลชอบแฟชั่น ชอบมองผู้คนรอบกายแต่งตัว ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจไม่นิ่ง นอกจากออมเงินแล้ว จึงหุ้นกับเพื่อนเปิดร้านจำหน่ายเสื้อผ้ามือหนึ่ง มือสอง และเครื่องประดับที่สวนลุมไนท์บาซาร์ สาเหตุที่ภูวดลสนใจเสื้อผ้ามือสอง เสื้อผ้าสมัยคุณย่า คุณแม่ยังสาว ที่หลายคนอาจไม่เห็นค่า แต่เขามองต่างว่า การนำเสื้อผ้ามือสองนำกลับมาใช้อีก นั่นคือการใช้สิ่งที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด โดยปรับให้ทันสมัย ก็ดูกลายเป็นของใหม่ที่ดูน่าสนใจ ไม่ซ้ำใคร

“บางทีไปเดินซื้อเสื้อผ้าเห็นเสื้อผ้าซ้ำๆ หลายๆ ร้าน ดูไม่น่าสนใจ ไม่แตกต่าง ไม่ทำให้ลูกค้าอยากเข้าไปซื้อ แนวคิดการนำเสื้อผ้ามือสองมาตัดต่อเติมใหม่ เพราะเห็นน้องๆ ที่เรียนศิลปะนำกระดุม หรือกะลามะพร้าว เศษไม้ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ มาประดับตกแต่งเสื้อผ้า กลายเป็นของเก๋ และสวยงาม หรือน้องๆ เอาอะลูมิเนียมหรือทองเหลืองเก่าๆ ที่มีอยู่แล้วมาสร้างสรรค์ใหม่ ต่อเติมลงไปทำให้เสื้อผ้ามือสองมีความสวยงาม แล้วเสื้อผ้าชุดนั้นก็มีเพียงชุดเดียวในโลก ก็ดูน่าสนใจ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว พอทำขึ้นมาลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติชอบมากๆ กลายเป็นจุดขายของเรา”



วิธีเลือกวัสดุ
: ภูวดล บอกว่า เศษวัสดุ ทุกอย่างในโลกที่ เหลือใช้ ล้วนมีค่าทั้งหมด เช่น เศษผ้าจากชุดนั้นนำมาต่อชุดนี้ หรือแม้แต่เครื่องประดับที่แต่ก่อนภูวดลให้นักศึกษาที่เรียนศิลปะคิดประ ดิษฐ์สร้อยแฮนด์เมดที่ทำจาก เศษวัสดุเหลือใช้ มาทำเป็นสร้อย ทำได้พักหนึ่งน้องๆ เริ่มไม่มีเวลา แต่ลูกค้าต้องการสร้อยแฮนด์เมด จึงเป็นไฟต์บังคับที่เขาต้องลุกขึ้นมาออกแบบและทำด้วยตัวเอง

“ใครมองว่าเสื้อผ้ามือสองดูไม่น่าสนใจ ผมมองว่าไม่ เสน่ห์ของเสื้อผ้ามือสองคือ ฝีมือการถักทอผ้าได้ลวดลายสวยงาม มีการพิมพ์ลายที่ประณีตละเอียดกว่าสมัยนี้มาก บางชุดใช้เทคนิคการตัดเย็บที่ละเอียดน่าศึกษา บางเทคนิคคนไทยทำได้ แต่ฝรั่งทำไม่ได้ เพราะเป็นงานเย็บที่ละเอียดมาก หรืออย่างการทำเครื่องประดับ วันหนึ่งผมนอนเล่นๆ อยู่ในบ้าน ในขณะที่ข้างบ้านกำลังเก็บข้าวของเพื่อปรับปรุงบ้านใหม่ เขาก็ทิ้งเศษวัสดุต่างๆ เยอะแยะ รวมทั้งเครื่องประดับเก่าๆ ด้วย ผมก็ไปเดินดูแล้วก็เลือกหยิบวัสดุที่เราคิดว่าจะใช้ทำเครื่องประดับได้ เช่น ทองเหลือง เหล็ก อะลูมิเนียม ก็ลองนำวัสดุต่างๆ มาประกอบกัน แล้วก็ใช้คีมแงะแล้วก็ตัดประกอบเป็นสร้อยทองเหลือง โดยเลือกวัสดุที่มีรูปทรงใกล้ๆ กันมาทำเป็นสร้อยแนวป่าๆ จำได้ว่าสร้อยเส้นนั้นไม่เสียเงินซื้อวัสดุอะไรสักบาท แต่ทำสร้อยได้ถึง 2 เส้น ก็นำไปขายที่ร้าน ฝรั่งมาเห็นก็ชอบมาก สั่งให้เราทำให้ 100 เส้น เราบอกทำไม่ได้หรอก เพราะเราทำเองและเป็น งานเเฮนด์เมดนำวัสดุเหลือใช้มาทำ หาวัสดุที่เป็นแบบนี้ก็ไม่ได้แล้ว ชาวฝรั่งเศสคนนั้นฟังก็เข้าใจ ทีแรกจะซื้อ 2 เส้น ก็เปลี่ยนใจซื้อเส้นเดียวแล้วบอกว่า เก็บไว้ให้คนอื่นที่ชื่นชอบได้ชมเหมือนกับที่ฉันเห็นเถอะ เราฟังแล้วก็รู้สึกดี”

หาไอเดียสร้างสรรค์งานศิลป์ : แนวคิดในการสร้างสรรค์เครื่องประดับใหม่ๆ คือ มองจากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ในฟิตเนสเขาเห็นผู้คนมาออกกำลังกายแล้วเอากุญแจล็อกเกอร์ห้อยคอ เขาก็นำแนวคิดนี้ไปต่อยอดโดยนำกุญแจบ้านหรือกุญแจรั้วบ้านสวยๆ ไปพ่นสีที่มีอยู่ในบ้าน หรือใช้สีทาบ้านเหลือๆ มาใช้ทาทับ หรือทำให้เก่าด้วยการทาสีแล้วนำไปขูดกับพื้นซีเมนต์ แล้วห้อยด้วยสร้อยหรือโซ่ ก็กลายเป็นสร้อยเท่ๆ เส้นหนึ่งที่คุณเองก็สามารถทำได้

“งานศิลปะไม่ยากหรอก ถ้างงๆ ไม่รู้จะออกแบบหรือทำสร้อยอย่างไร ก็ให้ดูสร้อยเส้นที่เราชอบว่าเขาต่อหรือติดตรงไหน แล้วค่อยๆ ทำตาม ลองฝึกคิดฝึกทำไปเรื่อยๆ เราจะรู้วิธีประดิษฐ์สร้อยเอง แต่ก่อนอื่นเราต้องกล้าและต้องมั่นใจ ออกแบบ คิด แล้วก็ลงมือทำ ต้องรู้จักจัดระเบียบความคิดของตัวเอง หรือบางทีเดินไปตลาดเห็นพ่อค้าใช้ตะกร้อทองเหลืองลวกเส้นก๋วยเตี๋ยวอยู่ เราเห็นโลหะทองเหลืองสวยมาก น่าจะนำไปทำเครื่องประดับได้ คือเห็นอะไรรอบตัวลองคิดกลับไปกลับมา แล้วเราก็จะเกิดแนวคิดใหม่ๆ ในการออกแบบ”

แนวความคิดลดโลกร้อน : ในฐานะที่ภูวดลชอบเรื่องการแต่งตัว เขาขอแนะนำว่า แต่ละคนล้วนช่วยกันลดโลกร้อนได้ เช่น พยายามใช้ของทุกอย่างที่ตัวเองมีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด อย่างเช่นเรื่องการแต่งตัว อย่าซื้อเสื้อผ้าบ่อย ควรคิดก่อนซื้อว่าจะนำไปใส่กับอะไร ถ้ารู้สึกเบื่อให้ลองมิกซ์แอนด์แมตช์เสื้อผ้าชุดนั้นชุดนี้ดู หรือลองใส่เครื่องประดับเข้าไป ก็ทำให้คุณรู้สึกสนุกกับการแต่งตัว

ภูวดล แนะต่ออีกว่า เศษวัสดุ ที่เรามีอยู่ในบ้าน หรือ เครื่องประดับที่ไม่ใช้แล้ว เช่น พลาสติก เศษไม้ ทองเหลืองเก่าๆ หรือแม้แต่เหรียญเก่าๆ ถ้าเบื่ออย่าทิ้ง ลองปรับเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นดู อาจได้ของใหม่ๆ เก๋ๆ ที่ไม่ซ้ำใคร และควรใช้ของที่ตัวเองมีอย่างคุ้มค่ากับการลงทุนซื้อของดีๆ ราคาแพง และใช้อย่างทะนุถนอมของสิ่งนั้นก็จะคุ้มค่าแล้วก็ใช้ได้นานๆสิ่งที่ได้ : นอกจากเงินทองที่ได้แล้ว ภูวดลยังภูมิใจที่ช่วยลดปริมาณขยะให้โลกได้ด้วย อีกทั้งเหลือเงินเก็บในธนาคารมีเงินค่าขนมเพิ่มแล้วยังให้คุณพ่อคุณแม่ได้ อีก แถมยังมีความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินเดือนประจำของตัวเอง ที่สำคัญมีความระมัดระวังในการเลือกซื้อ เลือกใช้เสื้อผ้ามากขึ้น และรู้จักประหยัดในการใช้จ่าย

“เรารู้แล้วว่าต้นทุนในการผลิตเสื้อผ้าไม่แพงอย่างที่คิด ยิ่งเรานำเสื้อผ้าในร้านไปใส่เป็นพรีเซนเตอร์ ประหยัดเงินค่าเสื้อผ้า รู้จักการใช้วัสดุที่มีอยู่แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า และใช้ศักยภาพที่มีอยู่ในตัวได้เต็มที่ที่สุด นั่นก็เหมือนกับเราใช้ความเป็นมนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งธรรมชาติอย่างคุ้มค่าด้วย โดยไม่ปล่อยให้เวลาสูญเปล่า คิดก่อนซื้อและไม่เสียเงินซื้อเครื่องประดับหรือเสื้อผ้าราคาแพงๆ มาใช้ เพราะยุคนี้คือยุคแห่งการประหยัด” ภูวดล หนุ่มนักประชาสัมพันธ์กล่าวจบในที่สุด

ขอบคุณ - credit :
เรื่อง : วราภรณ์ ภาพ : ทวีชัย ธวัชปกรณ์   บันเทิง - ไลฟ์สไตล์ www.posttoday.com  


นำรูป-เนื้อหา ไปใช้/เผยแพร่ ให้คัดลอก link ข้างล่างนี้ไปลงด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

สถิติผู้เยี่ยมชมทั้งหมด

Flag Counter

ขอบคุณ ผู้ชมเดือนนี้