15.9.53

กระดาษรีไซเคิลสร้างชีวิต สาน "จิ้งจก" น่ารัก เจ๋งเป้ง!!

คิดว่าข่าวนี้น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจงานฝีมือ โดยเฉพาะคนที่เข้ามาอ่านบล็อกนี้  เพราะเป็นการต่อยอดจากงานฝีมือ พวกจักสาน การใช้วัสดุเหลือใช้ โดยเฉพาะกระดาษจากสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง   ซึ่งถึงแม้จะมีมานานแล้ว แต่ฝีมือและไอเดียนี่สิ..ที่ทำให้บุคคลในข่าวนี้ทำรายได้จากสองมือและมัน สมองจริง ๆ


ไอเดียเด็ดมั้ยล่ะ..แต่กว่าจะทำได้ ต้องพยายามเนอะ
นี่ล่ะ ฝีมือของ  รชาดา ตรีภพศรีสกุล หัวหน้ากลุ่ม Recycle Paper Product  ที่ชุบชีวิตให้กระดาษจากสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองมีค่า เป็นที่ชื่นชอบโดยเฉพาะกับชาวต่างชาติ สามารถทำเป็นสินค้าส่งออก นำรายได้เข้าสู่ประเทศ และยังเลี้ยงกลุ่มสมาชิกได้เป็นอย่างดี



จริงๆ เทคนิคการถักทอสมุดโทรศัพท์หน้าเหลืองมีสอนและทำมานับ 20 ปีแล้ว แต่คุณ รชาดา เธอได้สร้างสรรค์ให้แปลกออกไป  ไม่ใช่แค่ สานกระจาด กระบุง ตะกร้า หน้าเก่า ๆ จำเจ แต่ใช้สมองเค้นไอเดีย ประกอบกับฝีมือ ที่สำคัญ คือ ความอดทน มาถักร้อยเป็นแมลง สัตว์ตัวเล็กๆ ทำเป็นแมกเน็ตติดตู้เย็น พวงกุญแจ ฯลฯ แนวไอเดียนี้ก็เลยกินขาดชนะ เวียดนาม อินเดีย เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งฝั่งยุโรป สหรัฐ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ฯลฯ 









หน้าตาเก๋ไก๋ ทำของกระจุ๊กกระจิ๊ก
นอกจากนี้ ยังคิดนำกระดาษแผ่นพับ ถุงพลาสติก หลอดดูดน้ำอัดลมใช้แล้ว มาสานเป็นหมวก ถุงหิ้วใส่ของ จนมีออร์เดอร์จากทั้งสหรัฐและจีนเข้ามาเพียบ แต่เสียดายที่ทำให้ไม่ได้น่ะสิ เพราะวัสดุที่นำมาใช้ต้องเหลือใช้จริงๆ  แต่ยังไงก็มีสิ่งที่น่าภาคภูมิใจมากกว่านั้นคือ “ตะกร้าสาน” ของเธอสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดงานฝีมือด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจาก สหรัฐเมื่อ 6 ปีที่แล้วอีกด้วย
จากผู้หญิง ที่จบชั้น ป.6 ปัจจุบัน รชาดาสามารถเก็บเงินซื้อทาวน์เฮาส์มูลค่าล้านกว่าบาท จากการนำกระดาษสมุดหน้าเหลืองมาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ เธอจึงตั้งชื่อบ้านว่า “กระดาษสร้างบ้าน”

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว รชาดามีอาชีพเย็บเสื้อผ้าขาย แต่ด้วยมีปัญหาที่หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ทำให้นั่งนานๆ ไม่ได้ อยู่บ้านว่างๆ เกิดอาการเบื่อ จึงอยากหาอาชีพที่ไม่ต้องลงทุน เธอจึงไปเรียนสานกระดาษที่ศูนย์ฝึกอาชีพของกรุงเทพมหานคร เรียนรู้เพียงพื้นฐาน แต่เธอนำความรู้กลับมาพัฒนา เรียนถูก เรียนผิด และต่อยอดจากสานกระจาด กระบุง ตะกร้า ดัดแปลงมาสานเป็นสัตว์นานาชนิด อาทิ มด จิ้งจก ตุ๊กแก แมลงปอ แมงป่อง แมงมุม เพนกวิน ปลาโลมา ตั๊กแตน กุ้ง หมู ช้าง หนู กระต่าย เสือ รวมทั้งดอกไม้ประดับบ้าน พวงกุญแจ ตะกร้า กระจาด ที่ใส่กระดาษทิชชู ตลับเบ็ดเตล็ด ถาด แจกัน เป็นต้น ปรากฏถูกใจชาวต่างชาติ โดยเฉพาะจิ้งจก ตุ๊กแก เรียกเรตติ้งได้มาก 

“ ทีแรกไม่คิดยึดเป็นอาชีพจริงจัง ครั้งแรกไปวางจำหน่ายในงานแฟร์ของกลุ่มไทยคราฟท์ แต่คนไทยไม่ค่อยให้ความสนใจ เพราะตอนนั้นกระแสรักษ์โลกร้อนยังไม่ได้รับความสนใจในเมืองไทย แต่ต่างประเทศตื่นตัวกันแล้ว ดังนั้นผู้ที่สนใจมาดูสินค้าคือชาวต่างชาติทั้งสิ้น แต่กว่าจะได้สินค้าใหม่ๆ ก็ทดลองอยู่นานกว่าจะรู้ว่ากระดาษชนิดไหนเหมาะ หรือไม่เหมาะกับงาน เพราะกระดาษที่เหมาะกับงานสาน ควรเป็นกระดาษที่เนื้อไม่หนาจนเกินไป เช่น กระดาษจากสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง กระดาษแมกกาซีน แผ่นพับก็สามารถนำมาสานได้ แต่กระดาษหนังสือพิมพ์ไม่เหมาะ เพราะเนื้อบาง เปื่อยยุ่ยเกินไป และของที่เราประดิษฐ์นั้นต้องมีประโยชน์ใช้สอย มีน้ำหนักไม่มาก เช่น ใช้ประดับบ้าน ใส่ของ ใส่ของขวัญมอบให้คนอื่นๆ แมกเน็ตติดตู้เย็น โดยเฉพาะคนอเมริกันชอบแมกเน็ตรูปจิ้งจกมาก ชอบมากกว่ากระบุง ตะกร้าซะอีก” รชาดา บอก

เมื่อวางขายก็ได้รับความสนใจจากตลาดต่างประเทศที่ อาศัยอยู่ในเมืองไทย รวมทั้งนักท่องเที่ยว เธอก็คิดเพิ่มสานเป็นเต่า กบ ไดโนเสาร์ ยิ่งสามารถเรียกความสนใจจากลูกค้าต่างชาตินับ 90% อาทิ ยุโรป อเมริกา อิตาลี ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย เป็นต้น จากที่ทำเพียงคนเดียว ก็ขยายกลุ่มนับ 30 คน ไปสอนญาติๆ ที่มีอาชีพทำไร่ ทำนา ให้ช่วยกันผลิตงาน จนกลายเป็นรายได้เสริมที่ดีมาก

“ต่างชาติมอง ว่าสินค้าเป็นการนำกระดาษไม่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ ที่สำคัญมันเป็นงานฝีมือ เขาชอบที่ไอเดียของเรา ลูกค้ามักบอกว่าชอบงานเรามากกว่าเวียดนามหรืออินเดีย เพราะไม่มีแมลงหรือสัตว์เลย ของเราจึงดูแตกต่าง ดูน่าสนใจ ยิ่งพอได้รางวัลมาก็เป็นเหมือนกำลังใจให้เราคิดสร้างสรรค์ผลงานไปเรื่อยๆ โดยจะคิดสร้างแต่ละตัวก็ต้องเอาตัวจริงๆ มานั่งมองแล้วก็นั่งดัดกระดาษไปเรื่อยๆ จนมีรูปทรงที่ใกล้เคียงของจริงมากที่สุด แรกๆ จะดัดยาก เพราะมีเส้นลวดอยู่ด้านใน ถ้าเราสานได้สัตว์ตัวหนึ่งแล้ว ก็คิดไปอีกหลายๆ ตัวได้ไม่ยาก” รชาดา บอก


กฎเหล็กการสร้างสรรค์งานของรชาดา คือ การนำวัตถุดิบที่ไม่ใช้แล้วมาทำทั้งสิ้น อาทิ กระดาษหนังสือแมกกาซีน แผ่นพับ เชือกฟางเหลือใช้ รวมทั้งกระดาษสมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง ปัจจุบันเธอต่อยอดไลน์สินค้าไปผลิตกระเป๋าใส่ของที่ผลิตจากถุงก๊อบแก๊บ ถุงพลาสติกใช้แล้ว รวมทั้งหมวกด้วย ขนาดประเทศจีนยังสั่งให้เธอทำส่ง แต่เธอทำให้ไม่ได้ เพราะข้อจำกัดคือ หาถุงก๊อบแก๊บที่ใช้แล้วยาก ถุงใส่ของใบหนึ่งๆ ขนาด 10x10 ซึ่งมีความแข็งแรง สามารถจุของได้ประมาณ 2 กิโลกรัม (ราคาถุงละ 175 บาท) ต้องใช้ถุงก๊อบแก๊บมาถักร้อยมากถึง 30-40 ใบทีเดียว

เห็นแล้วชื่นชมจริง ๆ เลย  สังเกตได้ว่าคนที่ประสบความสำเร็จในอาชีพงานฝีมือเหล่านี้  ส่วนนึงก็ต้องมาจากรู้จักดัดแปลง คิดค้น ต่อยอด พัฒนาสินค้าไม่ให้จำเจ  เราเคยได้ยินคนทำงานเหล่านี้บอกไว้ว่า  ทำขายแรก ๆ ก็ไปได้ดี  แต่ไม่นาน..ก็มีคนเลียนแบบ  ดังนั้น..ถ้าจะขายดี ขายได้นาน ต้องแปลกแหวกแนว พัฒนาหนีพวกคนเลียนแบบ  ต้องไม่หยุดนิ่ง

กับอีกอย่าง  เราว่าถ้าให้รุ่งนะ..ส่วนตัวคิดว่าควรทำขายต่างชาติ  เพราะเค้าจะชอบงานฝีมือเหล่านี้  ให้ราคาก็ดีกว่า  ที่สำคัญ จะหาชาติอื่นที่เก่งในการประดิดประดอย งานละเอียดอ่อน คู่แข่งจะน้อยกว่า  ก็หวังว่ารัฐบาลจะช่วยส่งเสริมงานฝีมือ อย่างน้อยก็ช่วยด้านการติดต่อ หาตลาดต่างประเทศ ซึ่งคนทำอาจไม่ถนัดน่ะนะ


แหล่งข้อมูล :  ที่มา bangkok-today.com  รายงานโดย :เรื่อง : วราภรณ์ ผูกพันธ์ / ภาพ : ณัฏฐ์ฐิติ อำไพวรรณ:

1 ความคิดเห็น:

Tataya Kudo กล่าวว่า...

สวยจังเลยค่ะ ตอนเด็กๆ เคยเรียน (แต่คืนความรู้คุณครูไปหมดแล้ว) ขอบคุณที่แบ่งปันเรื่องราวดีๆ นะคะ

สถิติผู้เยี่ยมชมทั้งหมด

Flag Counter

ขอบคุณ ผู้ชมเดือนนี้